เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งกำลังจะโคจรเฉียดโลกด้วยระยะที่ใกล้ที่สุด ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีระยะห่างประมาณ 32,000 กิโลเมตรเท่านั้น
โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มีชื่อว่า 2012 DA14 เป็นดาวเคราะห์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร และหนักประมาณ 130,000 ตัน เพิ่งถูกค้นพบโดยหอดูดาวลาซากราสกายเซอร์เวย์ (La Sagra Sky Survey observatory) ในสเปน เมื่อ 22 ก.พ.2012 ที่ผ่านมา
จะเคลื่อนที่ผ่านโลกด้วยความเร็วประมาณ 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะโคจรเฉียดโลกที่ระยะห่างประมาณ 32,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้กว่าวิถีโคจรของดาวเทียมสื่อสารบางดวงเสียอีก ในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์นี้
แม้ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าหากมันพุ่งชนโลกเมื่อไหร่ พลังทำลายล้างก็จะเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีขนาด 2.5 เมกะตัน ซึ่งพร้อมจะทำให้เมืองเมืองหนึ่งเผชิญกับหายนะที่สร้างความเสียหายมหาศาล
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงแค่การสมมติเท่านั้น แต่เรื่องจริงก็คือ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน
แค่เฉียดฉิวให้นักดูดาวได้ยลโฉมกันแบบชัดเจนขึ้น (แต่ก็ยังถือว่าเลือนรางอยู่) ส่วนคนที่หวังจะได้เห็นมันด้วยตาเปล่านั้นคงหมดสิทธิ์ เพราะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้เลย โดยนาซาบอกว่า นักดูดาวจะสามารถเห็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ชัดเจนที่สุดที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงทางตะวันตกของยุโรป ทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย ก็น่าจะเห็นได้ค่อนข้างชัด
นอกจาก 2012 DA14 แล้ว ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกจับตามากที่สุดในตอนนี้คือดาวเคราะห์น้อย “อะโพฟิส” (Apophis) เนื่องจากการศึกษาเบื้องต้นหลังจากค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เมื่อ 19 มิ.ย.2004
ระบุว่ามีโอกาสที่อะโพฟิสจะพุ่งชนโลกถึง 2.7% แต่จากการติดตามอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่พุ่งชนโลกเมื่อเข้าใกล้ในวันที่ 13 เม.ย.2029 ในระยะ 31,300 กิโลเมตร
ภาพดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส ซึ่งถูกค้นพบเมื่อ 19 มิ.ย.2004 (สเปซด็อทคอม/UH/IA)
หากแต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังศึกษาต่อไปถึงโอกาสการพุ่งชนโลกเมื่อดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกอีกครั้งในปี 2036
และล่าสุดตามรายงานของสเปซด็อทคอม ดอน ยีโอมานส์ (Don Yeomans) ผู้จัดการสำนักโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของนาซา ระบุว่า ในปี 2036 ที่อะโพฟิสจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งนั้นมีโอกาสจะพุ่งชนโลกน้อยกว่า 1 ในล้าน ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ขณะอยู่ห่างจากโลกที่ 1.5 ล้านกิโลเมตร
ทางด้านองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) เพิ่งประกาศข้อมูลล่าสุดของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส จากการสังเกตด้วยหอดูดาวอวกาศเฮอร์เชล (Herschel Space Observatory) และเผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยกว้าง 325 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า 20% (เดิมประมาณว่ากว้าง 270 เมตร) และมีมวลมากกว่าที่ประมาณ 75%
ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแมกดาลีนาริดจ์ (Magdalena Ridge observatory) ที่ดำเนินการโดยสถาบันเหมืองและเทคโนโลยีนิวเม็กซิโก (New Mexico Institute of Mining and Technology) และมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) แล้วยังอาศัยข้อมูลจากเรดาร์ศึกษาระบบสุริยะโกลด์สโตน (Goldstone Solar System Radar) ของนาซา จนได้ข้อสรุปว่า การเฉียดใกล้โลกในปี 2036 นั้นไม่พุ่งโลกอย่างแน่นอน
ภาพดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสที่ใกล้โลกเข้ามาในวันที่ 5-6 ม.ค. 2013 ซึ่งบันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวเฮอร์เชลที่ความยาวคลื่น (ซ้ายไปขวา) 70,100 และ 160 ไมโครเมตร (สเปซด็อทคอม/อีซา)
ที่มา :
http://hilight.kapook.com/view/81707
http://www.manager.co.th/science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000010520
____________________
0 ความคิดเห็น:
Speak up your mind
Tell us what you're thinking... !