นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบฟอสซิลปลานักล่าชนิดใหม่ของโลก “อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี” อายุ 150 ล้านปี จากยุคจูแรสสิก เผยการค้นพบครั้งนี้ช่วยปลดล็อคปริศนาการจัดกลุ่มและลำดับสายวิวัฒนาการปลาโบราณให้ชัดเจนขึ้น และนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า “เอเชียเป็นจุดศูนย์กลาง” การแพร่กระจายพันธุ์สิ่งมีชีวิตไปยังทวีปต่างๆ
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา จัดแถลงข่าวเปิดตัวนักล่าสายพันธุ์ใหม่ “อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี” ปลานักล่าแห่งจูแรสสิก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว พร้อมด้วย ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ,ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยา และผู้ค้นพบปลาดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก ร่วมแถลงข่าวถึงรายละเอียดของการค้นพบฟอสซิลปลานักล่าชนิดใหม่ของโลก รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ให้สื่อมวลชนได้รับทราบเพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า การค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของสิ่งมีชีวิตโบราณ นับเป็นเรื่องน่ายินดีของวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะการศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยา ซึ่งมีผู้สนใจศึกษาไม่มากนักในประเทศไทย แต่ถือเป็นสาขาวิชาที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากภาคอีสานเป็นภาคที่มีการขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลเป็นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนด้านบรรพชีวินวิทยา และเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยาชั้นนำไว้เป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นกำลังหลักในการผลิตบุคลากรและสร้างสรรค์งานวิจัยด้านฟอสซิลในประเทศไทย
ด้าน ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยา หรือ การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีตนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เคยมีอยู่บนโลกแล้ว ยังเป็นการเผยความลับทางประวัติศาสตร์โลก เกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการและสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งถูกบันทึกไว้ในชั้นหิน “การดำเนินการขุดสำรวจ และการศึกษาวิจัยฟอสซิล ถือเป็นพันธกิจสำคัญของศูนย์ฯ โดยแหล่งขุดค้นสำคัญที่ศูนย์ฯ กำลังดำเนินการอยู่บริเวณแหล่งขุดค้นภูน้อย ซึ่งการค้นพบปลานักล่าชนิดนี้เป็นเพียงชนิดแรกที่มีการระบุชนิดในแหล่งขุดค้นภูน้อย หากแต่การค้นพบตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ยังพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด อาทิ ไดโนเสาร์ จระเข้โบราณ และเต่าโบราณ ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อระบุชนิด และทั้งหมดคาดว่าจะเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนในโลก”
ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยา (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาวิจัยฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ และผู้ค้นพบปลาดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก เปิดเผยว่า อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi) เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจืดที่พบในยุคจูแรสสิกตอนปลาย หรือเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน มีความยาวตั้งแต่ 30-90 เซนติเมตร จากการศึกษาลักษณะฟันที่เรียงกันคล้ายแท่งดินสอ และขากรรไกรที่แข็งแรงบ่งบอกได้ว่าปลาชนิดนี้มีขากรรไกรอันทรงพลังและฟันอันแหลมคม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสัตว์นักล่า
“อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี เป็นฟอสซิลปลากระดูกแข็งชนิดที่ 2 ในสกุล อีสานอิกธิส ที่มีการค้นพบในประเทศไทย หลังจากการค้นพบ อีสานอิกธิส พาลาสทิส (Isanichthys palustris) ในปีพ.ศ. 2549 ชื่อสกุล อีสานอิกธิส หมายถึง ปลากระดูกแข็งที่พบในภาคอีสาน (Isan = ภาคอีสาน และ Ichthys = ปลากระดูกแข็ง) ส่วนชื่อชนิด เลิศบุศย์ศี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่นายอำเภอเลิศบุศย์ กองทอง ผู้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้แหล่งขุดค้นภูน้อยดำเนินการมาได้ด้วยดี และให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งวิชาการ สาธารณูปโภค ตลอดจนการผลักดันให้ภูน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงบรรพชีวินวิทยา ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญของปลากระดูกแข็งโบราณที่สังเกตได้ง่ายคือ ลักษณะเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบได้ในกลุ่มปลาการ์ (Gar) เท่านั้น” ดร.อุทุมพร กล่าว
ประวัติการค้นพบฟอสซิลชนิดใหม่นี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2551 นักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณีและศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับตัวอย่างฟอสซิลเกล็ดปลา ซึ่งนายทองหล่อ นาคำจันทร์ ชาวบ้านตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง เป็นผู้ค้นพบและมอบให้นายอำเภอคำม่วงเป็นผู้ส่งมอบตัวอย่าง ทำให้เกิดการเข้าสำรวจพื้นที่บริเวณภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงพบตัวอย่างฟอสซิลปลากระดูกแข็งจำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งมีความสมบูรณ์ยิ่งสำหรับการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะส่วนกระโหลก และฟันที่ทำให้สามารถแยกเป็นชนิดใหม่ของโลกได้
ดร.อุทุมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบใหม่ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมชนิดใหม่ในสายวิวัฒนาการของปลากระดูกแข็งโบราณแล้ว ยังถือเป็นการปลดล็อคปริศนาการจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งโบราณให้กระจ่างมากขึ้น จากเดิมที่มักจัดกลุ่มปลากระดูกแข็งโบราณที่ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้เข้าไว้ในสกุล เลปิโดเทส (Lepidotes) เท่านั้น แต่จากการวิจัยสามารถระบุลักษณะที่ชัดเจนของสกุล อีสานอิกธิส จนทำให้สามารถจัดกลุ่มปลาปริศนาที่ค้นพบในประเทศต่างๆ ให้เข้ามารวมอยู่ในสกุลอีสานอิกธิส ได้ถึง 2 ชนิด คือ อีสานอิกธิส ลาติฟรอนส์ (I. latfrons) (จาก เลปิโดเทส ลาติฟรอนส์) และอีสานอิกธิส ลูชิวเอนซิส (I. luchowensis) (จากเลปิโดเทส ลูชิวเอนซิส)
“อีสานอิกธิส ลูชิวเอนซิส เป็นฟอสซิลปลาที่พบในประเทศจีน มีช่วงอายุใกล้เคียงกับชนิดที่พบในประเทศไทย คืออายุประมาณ 150 ล้านปี ในยุคจูแรสสิก ขณะที่ อีสานอิกธิส ลาติฟรอนส์ พบในทวีปยุโรปในช่วงอายุประมาณ 90-100 ล้านปี ในยุคครีเทเชียส ซึ่งเป็นช่วงอายุที่อ่อนกว่าที่พบในทวีปเอเชีย จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการแพร่กระจายชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่เริ่มต้นจากทวีปเอเชียและแพร่กระจายเป็นยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก” ดร.อุทุมพร กล่าว
ที่มา : ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา
ภาพ / ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
____________________
เครดิต : http://news.mthai.com/headline-news/199450.html
________________________________
อ้างอิง :
________________________________
0 ความคิดเห็น:
Speak up your mind
Tell us what you're thinking... !